วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

โรคภูมิแพ้ Atopic disease


 จาก สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 10
โดย นายแพทย์มนตรี ตู้จินดา
           โรคภูมิแพ้เป็นกลุ่มของโรคที่เกิดขึ้นในบุคคลบางคน   เนื่องจากร่างกายของผู้นั้นมีปฏิกิริยาต่อสาร(สิ่งกระตุ้น/สารก่อภูมิแพ้)ที่เข้าไปในร่างกายผิดไปจากคนส่วนใหญ่(ภูมิไวเกิน)   พบโรคกลุ่มนี้ได้บ่อยในประชากรทั่วโลกรวมทั้งชาวไทยด้วย
          อาการของโรคภูมิแพ้  เกิดขึ้นเนื่องจากปฏิกิริยาระหว่างสารก่อภูมิแพ้ (allergens)/สิ่งกระตุ้น(stimulant)  ซึ่งเป็นปัจจัยจากภายนอกเข้าไปในร่างกาย กับ ภูมิแพ้(ภูมิไวเกิน)   ซึ่งเป็นสิ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นภายหลังได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปกระตุ้นในครั้งก่อนๆ ภูมิแพ้นี้อาจอยู่ในน้ำเหลือง(เซรุ่ม/HMI)    หรืออยู่ในเซลล์ประเภทลิมโฟไซต์(lymphocyte/CMI) ก็ได้  ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น อาจทำให้เกิดโรคขึ้นได้ในหลายระบบหลายอวัยวะ    สุดแต่ว่าบุคคลนั้นจะมีระบบอวัยวะใดเป็นที่ตอบสนอง    อาจแสดงออกในระบบทางเดินหายใจ  เช่น  หอบหืด อาจแสดงออกทางผิวหนัง เช่น  ลมพิษ หรืออาจแสดงออกทางระบบทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน อุจจาระร่วง บางรายเกิดปฏิกิริยารุนแรงจนทำให้เกิดอาการหลายระบบพร้อมกัน เช่น  มีอาการช็อก หายใจไม่ออก และอาจถึงแก่ กรรมในระยะเวลาอันสั้นได้ ภาวะเช่นนี้ เราเรียกว่า  "ภาวะอะนาไฟแลกซิส" (anaphylaxis)


ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้
          ๑. กรรมพันธุ์   กรรมพันธุ์มีความสำคัญในการถ่ายทอดโรคภูมิแพ้หลายชนิด เช่น โรคหืด จมูกอักเสบจากการแพ้  ผื่นเอ็กซีมา  แม้กรรมพันธุ์จะมิใช่เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดโรค     แต่บุคคลที่มีกรรมพันธุ์ของโรคเหล่านี้ ย่อมมีโอกาสเป็นได้ง่ายกว่าบุคคลที่ไม่มีประวัติโรคดังกล่าวในครอบครัว
          ๒. สารก่อภูมิแพ้(allergen)  คนที่จะเกิดโรคภูมิแพ้จะต้องได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าร่างกายมาก่อน การได้รับครั้งแรกจะไม่มีอาการ ยิ่งได้รับสารภูมิแพ้เข้าร่างกายมากเท่าใด  บ่อยเท่าใด  ก็ยิ่งมีโอกาสเกิดอาการแพ้ได้มากเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีแนวโน้มในการ เกิดโรคภูมิแพ้อยู่ด้วย เช่น มีกรรมพันธุ์ก็จะยิ่งมีโอกาสเป็นได้ง่ายขึ้น
         สารก่อภูมิแพ้เป็นสารอยู่รอบตัวเรา  สารแต่ละชนิดมีคุณสมบัติก่อภูมิแพ้ไม่เหมือนกัน บางชนิดก่อได้ง่าย บางชนิดก่อได้ยาก สารประเภทโปรตีนก่อภูมิแพ้ได้ดี  สารเหล่านี้เข้าร่างกายได้โดยการสูดหายใจเข้าไป เช่น ฝุ่นในบ้าน ตัวไรในฝุ่น ขนและรังแคสัตว์เศษแมลง เกสรของดอกไม้ ดอกหญ้า และวัชพืชตลอดจนสปอร์ของเชื้อราที่มีอยู่ในอากาศมากมาย ในแต่ละฤดูกาล และในแต่ละภูมิประเทศมีเกสรพืชและ สปอร์ของเชื้อราแตกต่างกัน สารก่อภูมิแพ้บางชนิดอาจเข้าร่างกายโดยการรับประทาน  เช่น อาหาร เครื่องดื่ม และยา เป็นต้น สารบางอย่างอาจเข้าร่างกายโดยการสัมผัส เช่น เครื่องสำอาง เครื่องใช้ประจำบ้าน และสารบางอย่างอาจเข้าไปได้โดยการฉีดเข้าร่างกาย เช่นยา เป็นต้น
         เมื่อสารก่อภูมิแพ้จะเข้าร่างกายโดยทางใดก็ตามบุคคลส่วนน้อยเท่านั้นที่จะสร้างภูมิแพ้ตอบสนองจำเพาะต่อสารที่ตนแพ้ โดยสารก่อภูมิแพ้จะเข้าไปกระตุ้นกลุ่มเซลล์ประเภทลิมฟอยด์ (lymphoid cell) บางชนิดให้สร้างภูมิแพ้ขึ้น    ภูมิแพ้อาจอยู่ในน้ำเหลืองซึ่งเป็นส่วนของอิมมูโนโกลบุลิน  อี (immunoglobulin  E) หรือเรียกย่อว่า  lgE  หรือเซลล์ลิมฟอยด์บางชนิดที่ถูกสารก่อภูมิแพ้กระตุ้นอาจเป็นตัวแสดงปฏิกิริยาได้ถ้าสารก่อภูมิแพ้อีก  เซลล์พวกนี้จะมีคุณสมบัติจำได้ว่าตัวเองถูกกระตุ้นด้วยสารใด  เมื่อร่างกายได้รับสารที่ตนเองสร้างภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกายอีก    ก็จะเกิดปฏิกิริยาระหว่างสารก่อภูมิแพ้กับภูมิแพ้ในน้ำเหลือง (หรือกับเซลล์ลิมฟอยด์ที่เคยถูกกระตุ้นไว้) มีผลทำให้เกิดการหลั่งสารเคมีหลายชนิด สารเหล่านี้จะไปออกฤทธิ์ต่ออวัยวะที่ตอบสนอง  แต่ละคนอาจมีอวัยวะตอบสนองต่างกัน  แม้ว่าจะได้รับสารที่ตนแพ้อย่างเดียวกัน   เช่น  บางคนสูดฝุ่นบ้าน แสดงออกโดยหอบหืด  บางคนอาจแสดงออกเพียงมีน้ำมูกไหลจาม และคันจมูก เท่านั้น หรือการแพ้ยา แม้ว่าจะเป็นยาชนิดเดียวกัน   บางคนแสดงออกโดยเป็นลมพิษบางคนหอบหืด  แต่บางคนอาจช็อกจนเสียชีวิตได้


โรคภูมิแพ้ที่พบในคนไทย
         โรคหืด
         เป็นโรคที่หลอดลมของผู้ป่วยไวต่อสิ่งที่มากระตุ้นมากกว่าปกติ  ทำให้หลอดลมเกิดหดเกร็งเนื่องจากกล้ามเนื้อรอบหลอดลมหดเกร็ง  มีเสมหะมากและผนังหลอดลมบวม การหดเกร็งของหลอดลมนี้เกิดเป็นครั้งคราว ขณะเกิดอาการทำให้หายใจผ่านทางลำบากขึ้น  จึงเกิดอาการหอบ อาจได้ยินเสียงหายใจดังวี้ดๆได้ ขณะไม่หอบก็เหมือนคนปกติ
         สาเหตุของโรค  อาจมาจากการแพ้สารบางอย่าง  หรืออาจเกิดจากการทำงานของประสาทที่ควบคุมหลอดเลือดผิดปกติไป ผู้ป่วยที่เป็นหืดอาจเกิดการหอบขึ้น  เนื่องจากพบสิ่งกระตุ้นซึ่งมีหลายอย่าง  เช่น  ผู้ป่วยได้รับสารที่ตนเองแพ้  การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ การเปลี่ยนแปลงของอากาศ  อาทิ  อากาศหนาว อากาศอ้าว การออกกำลังมากเกินไป หรือแม้แต่ความผิดปกติในอารมณ์หรือจิตใจก็อาจเกิดการหอบขึ้นได้ สาเหตุของการแพ้ในโรคนี้ส่วนใหญ่เป็นสารที่สูดเข้าทางการหายใจ  เช่น ฝุ่นบ้าน ตัวไรในฝุ่น  ขนสัตว์เลี้ยง  เศษแมลง เชื้อรา เกสรหญ้า และเกสรดอกไม้ในอากาศ
         โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง เกิดขึ้นได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ โรคที่เริ่มเกิดในเด็กมักมีสาเหตุจากการแพ้มากกว่าโรคที่เริ่มเกิดในผู้ใหญ่ ถ้าเกิดในวัยเด็กจะมีโอกาสหายได้ง่ายกว่า

          จมูกอักเสบจากภูมิแพ้
          บางคนเรียกว่า "ไข้ละอองฟาง" (hay fever) แต่คนทั่วไปเรียกโรคนี้ว่า  "โรคแพ้อากาศ"  ความจริงไม่ใช่การแพ้อากาศ  แต่เป็นการแพ้สารบางอย่างในอากาศ เมื่อผู้ป่วยสูดเอาสารที่ตนแพ้เข้าร่างกาย จะมีน้ำมูกไหล  คัดจมูก  คันจมูก  คันตา  คันในลำคอ มีน้ำตาไหลและจาม อาการดังกล่าวอาจเป็นเฉพาะฤดูกาล สาเหตุมักเกิดจากการแพ้สารที่มีในฤดูกาลนั้นๆ เช่น  เป็นฤดูกาลที่มีเกสรหญ้า  และวัชพืช หรือเชื้อรา หรืออาจมีอาการตลอดปี ซึ่งมักเกิดจากการแพ้สารที่ผู้ป่วยพบตลอดปี  เช่น ฝุ่นบ้าน ตัวไรในฝุ่นเศษแมลง  รังแคสัตว์  อาหาร  หรือเกสรและเชื้อราชนิดที่มีอยู่ตลอดปี ผู้ป่วยบางรายมีอาการหอบหืดด้วย  สาเหตุของโรคทั้งสองคล้ายกันแม้ว่าอาการของโรคนี้ไม่รุนแรงถึงกับเสียชีวิต แต่ก็ก่อความรำคาญแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

          โรคผื่นเอ็กซีมา
          โรคผื่นเอ็กซีมา (atopic eczema) เป็นโรคที่มีผื่นของผิวหนัง ซึ่งมักเกิดในบุคคลที่มีแนวโน้มในการแพ้   ผู้ป่วยบางรายมีอาการหอบหืด  และจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร่วมด้วย โรคนี้อาจเกิดได้กับเด็กเล็กแม้เพียงอายุ ๒-๓ เดือน    สำหรับเด็กเล็กนี้ผื่นมักเกิดที่บริเวณหน้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก้มทั้งสองข้าง  ศีรษะเป็นผื่นแดงคัน  อาจมีน้ำเหลืองซึม  และจะเกิดเป็นสะเก็ดคล้ายกับที่เราเรียกว่า "กลากน้ำนม" บางรายจะหายเมื่อโตขึ้น บางรายแม้ผื่นที่บริเวณหน้าทุเลาลง แต่มักพบผื่นตามบริเวณข้อพับของเข่า  ศอก  และรอบคอเมื่อเด็กโตขึ้น มีอาการคันมาก หากเป็นนานๆ ผิวหนังจะแห้งและหนาขึ้น อาการจะกำเริบเป็นครั้งคราว ไม่ทราบสาเหตุของโรคนี้แน่นอน ใน เด็กเล็ก อาหารบางชนิด เช่น ไข่ นม อาจทำให้ผื่นเห่อขึ้นในบางราย และสิ่งระคายผิวหนังก็ทำให้อาการรุนแรงขึ้น

          ลมพิษ
          เป็นปฏิกิริยาของเส้นเลือดในชั้นบนของผิวหนังผื่นมีลักษณะเฉพาะ คือ เป็นผื่นแดงนูน  มีขอบเขตชัดเจน  เป็นรอยหยักนูนขนาดต่างๆ กัน และคันมาก ถ้าปฏิกิริยาเกิดขึ้นใต้ผิวหนังจะทำให้เกิดการบวมเฉพาะที่ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เสมอกับผู้ที่เป็นลมพิษเป็นโรคที่พบได้บ่อย สาเหตุส่วนมากเนื่องมาจากการแพ้อาหาร และเครื่องดื่ม เช่น อาหารทะเล เบียร์สุรา สีเหลืองบางชนิดที่ใช้ทำขนมก็เป็นสาเหตุได้เหมือนกัน สาเหตุอื่นได้แก่ การแพ้ยา และโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคพยาธิไส้เดือนในลำไส้การสัมผัสแมลง เช่น บุ้ง แมลงชีปะขาว   การสัมผัสหญ้า  หรือถูกแมลงต่อย  บางรายแพ้ความเย็นบางคนมีเหงื่อออกมากจากการออกกำลังกายก็เกิดลมพิษได้

          แพ้ยา
          ในปัจจุบันมียามากมายหลายชนิด  ยิ่งมียามากเท่าใดก็ยิ่งมีการแพ้ยามากขึ้นเท่านั้น ยาประเภทที่ทำให้เกิดการแพ้ง่ายได้แก่  พวกเพนิซิลลิน ซัลโฟนาไมด์ และยาแก้ปวด(Nsaids)
อาการแพ้ยาอาจพบได้เป็น ๒ แบบ แบบแรกเป็นผื่นแพ้ยา ซึ่งจะเกิดเป็นผื่นชนิดใดก็ได้ อาจมีอาการตั้งแต่คัน มีผื่นแดงทั่วไปเกิดลมพิษ   มีผื่นคล้ายหัด  ผิวหนังพองมีน้ำเหลืองบางครั้งรุนแรงถึงมีผื่นทั่วตัว รวมทั้งมีการอักเสบของเยื่อบุต่างๆ เช่น เยื่อบุในปาก เยื่อบุตา และอาจเสียชีวิตได้ อาการอีกแบบหนึ่งแสดงออกทางกายทั่วไปโดยไม่มีผื่น เช่น คลื่นไส้   อาเจียน   มีไข้   ต่อมน้ำเหลืองโต ข้อบวม ดีซ่าน ไตอักเสบ บางรายมีอาการแพ้รุนแรง เกิดอาการช็อก และเสียชีวิตในเวลาอันสั้น

          ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส(contact dermatitis)
          เป็นการอักเสบของผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสกับสารที่ผู้ป่วยแพ้ ส่วนใหญ่เป็นสิ่งของที่สัมผัสเป็นประจำ เช่น เครื่องใช้ประจำวัน หรือสิ่งที่ต้องสัมผัสในอาชีพการงาน ซึ่งมีสารเคมีที่ผู้ป่วยอาจแพ้ได้ ปฏิกิริยามักเกิดขึ้นหลังสัมผัสกับสารนั้นประมาณ  ๖-๔๘ ชั่วโมง  ที่ผิวหนังจะมีผื่นบวม แดง คัน มีน้ำเหลืองซึม หรือมีเม็ดตุ่มใส และจะเกิดเฉพาะบริเวณที่สัมผัสกับสารนั้นเท่านั้น มักเห็นเป็นรอยชัดเจนพอที่จะทำให้นึกถึงสาเหตุได้  สาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่ เครื่องสำอาง เครื่องประดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่มีส่วนผสมของนิกเกิล  นอกจากนี้ ผงซักฟอก ยาย้อมผม รองเท้า ปูนซีเมนต์ สีผึ้งทาปาก และยาต่างๆ ล้วนอาจเป็นสาเหตุได้ทั้งสิ้น

          แพ้อาหาร
          อาหารอาจก่อให้เกิดการแพ้และแสดงอาการได้หลายระบบอวัยวะ  อาจก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ  เช่น  หอบหืด อาจแสดงอาการทางผิวหนัง เช่น เกิดลมพิษ อาจแสดงอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง อาหารที่เป็นสาเหตุของการแพ้บ่อยในวัยทารก คือ  นมวัวส่วนวัยผู้ใหญ่นั้น   สาเหตุที่สำคัญได้แก่ อาหารทะเลของหมักดอง สุรา เบียร์ เนื้อสัตว์ อาหารสุกๆดิบๆ และผลไม้บางชนิด

          แพ้แมลง
          แมลงในโลกมีมากมายนับเป็นแสนๆ ชนิด แมลงอาจก่อโรคภูมิแพ้ได้หลายแบบ เศษซากแมลงอาจเข้าร่างกายคนโดยการสูดหายใจเข้าไป ซึ่งมักก่อโรคภูมิแพ้ของระบบทางเดินหายใจ  เช่น  โรคหืด จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ แมลงประเภทนี้ ได้แก่ เศษแมลงในบ้านรวมทั้งแมลงสาบด้วย แมลงพวกยุง กัดแล้วอาจทำให้ ผู้ป่วยแพ้ได้เช่นกัน มักเกิดอาการทางผิวหนัง เช่นมีผื่น คัน ลมพิษ แมลงที่ต่อย เช่น ผึ้ง แตน ต่อมดแดงไฟ และมดตะนอย ก็อาจทำให้ผู้ป่วยแพ้ได้  มักจะเกิดอาการรุนแรงและรวดเร็ว  มีอาการปวด บวม บางรายรุนแรงมากถึงกับมีอาการช็อกหายใจไม่ออก  และอาจเสียชีวิตภายในเวลาอันสั้น  
 

การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้
          ใช้วิธีการเหมือนโรคอื่นๆ คือ อาศัยประวัติการตรวจร่างกาย และอาจต้องใช้ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการด้วย  สำหรับการหาสาเหตุว่าผู้ป่วยแพ้สิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น  สิ่งที่สำคัญคือ การสังเกตของผู้ป่วยเองอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่า  อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นน่าจะสัมพันธ์กับสิ่งใด การทดสอบทางผิวหนังอาจช่วยทำให้แน่ใจขึ้นสำหรับโรคภูมิแพ้ที่มีปฏิกิริยาแสดงอย่างรวดเร็ว  เช่น หืด จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือการแพ้แมลงต่อยอาจทดสอบด้วยวิธีใช้เข็มสะกิดผ่านน้ำยาทดสอบที่หยดบนผิวหนัง (prick หรือ scratch test) หรือ วิธีฉีดน้ำยาที่สงสัยเข้าผิวหนัง  (intracutaneous test) แล้วดูปฏิกิริยาภายในเวลา ๑๕-๒๐ นาที ส่วนโรคภูมิแพ้ที่แสดงปฏิกิริยาล่าช้า เช่น ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส ใช้วิธีเอาสารสกัดจากสิ่งที่สงสัยมาปิด (patch test) ไว้ที่ผิวหนัง  ทิ้งไว้และอ่านผลภายในเวลา  ๒๔-๔๘ ชั่วโมง การทดสอบเป็นเพียงเครื่องช่วยหาสาเหตุสำหรับใช้ประกอบประวัติ    เพื่อให้การวินิจฉัยมีความถูกต้องมากขึ้นเท่านั้น 
  
การรักษาโรคภูมิแพ้
          มีหลักสำคัญ ๓ ประการ คือ
          ๑. หลีกเลี่ยงที่สารตนแพ้ถ้าทราบว่าแพ้สิ่งใดเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ถ้าสารนั้นไม่เข้าร่างกายปฏิกิริยาก็จะไม่เกิดขึ้น
          ๒. การรักษาด้วยยา เป็นเพียงการรักษาตามอาการ เช่น หอบหืดก็ใช้ยาขยายหลอดลม วิธีนี้จะได้ผลเฉพาะช่วงเวลาที่ยาออกฤทธิ์เท่านั้น ("ปัจจุบันนอกจากยาบรรเทาอาการแล้ว ยังมียาที่ช่วยควบคุมโรค  เปลี่ยนแปลงธรรมชาติของโรค ซึ่งจะนำมารับใช้ในโอกาสต่อไป"  SuperDoctorP)
          ๓. การเสริมภูมิคุ้มกัน สำหรับโรคบางอย่างเช่น หืด จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และแพ้แมลงต่อยที่รุนแรง หากใช้สองวิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผล และไม่ สามารถหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ได้  การฉีดสารที่ตนเองแพ้เข้าร่างกายในขนาดที่เหมาะสมเป็นระยะเวลานานพอสมควร อาจช่วยสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น